top of page

ความเป็นมา

     โรงเรียนราชินีบนกำหนดให้การพัฒนาโรงเรียนให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเป็นยุทธศาสตร์ที่ ๔ ของแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนราชินีบน ฉบับที่ ๖ (ปีการศึกษา ๒๕๕๙ – ๒๕๖๑) โดยกำหนดให้การพัฒนาบทเรียนร่วมกัน (Lesson study) ตามแนวคิดของศาสตราจารย์มานาบุ ซาโตะ เป็นแนวทางของการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพขึ้นในโรงเรียน ทั้งนี้ การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีความก้าวหน้ามาโดยลำดับดังนี้

ปีการศึกษา ๒๕๕๙     (๑) โรงเรียนเข้าร่วมกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ (Thailand Principal Forum) เพื่อร่วมศึกษาวิจัยและนำแนวทางการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพมาใช้ในโรงเรียนราชินีบน

ปีการศึกษา ๒๕๖๐    (๑) โรงเรียนรับเงินอุดหนุนกิจกรรมทางวิชาชีพจากคุรุสภา จำนวน ๑๘๐,๐๐๐ บาท เพื่อสร้างเครือข่ายระดับหน่วยงานทางการศึกษา (link1) ประกอบด้วยโรงเรียนเอกชน ได้แก่ โรงเรียนราชินีบน โรงเรียนอัมพวันศึกษา โรงเรียนกันตบุตร โรงเรียนช่างอากาศอำรุง และโรงเรียนภาษานุสรณ์บางแค

(๒) ผลงานวิจัยเรื่อง Research and Development of Neoclassical Thai Lady Curriculum by using Lesson Study through Professional Learning Community in Rajinibon School, Thailand (link2) ได้รับการพิจารณาให้นำเสนอในงาน World Association of Lesson Study (WALS 2017) มหาวิทยาลัยนาโกยา เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น

(๓) ผลงานวิจัยเรื่อง Using Lesson Study to Develop Health Literacy Learning Units for G.1-G.12 Students in Rajinibon School, Bangkok, Thailand (Link3)  ได้รับการพิจารณาให้นำเสนอในงาน The 3rd RGS PeRL Symposium ที่ Raffles Girls’ School ประเทศสิงคโปร์

(๔) โรงเรียนจัดงานเปิดบ้านกุลสตรีราชินีบนในศตวรรษที่ ๒๑ (Open House of Neoclassical Thai Lady) (link: https://narunat06.wixsite.com/openhouse) ขึ้น เพื่อแสดงอัตลักษณ์นักเรียน

ปีการศึกษา ๒๕๖๑     (๑) ครูของโรงเรียนจำนวน ๒ คน ได้รับการพิจารณาให้เงินอุดหนุนกิจกรรมทางวิชาชีพ (ระดับผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา) จากคุรุสภา รวม ๙๕,๐๐๐ บาท (link4)

     ความก้าวหน้าของการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community) ตลอด ๓ ปีการศึกษา เป็นแรงผลักดันให้โรงเรียนสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับสาธารณชน ครูทุกคนสามารถทำงานแบบร่วมมือรวมพลังได้อย่างเป็นประชาธิปไตย และคาดหวังการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best practices) จึงเป็นที่มาของการเปิดห้องเรียนกุลสตรีราชินีบนในศตวรรษที่ ๒๑ ในครั้งนี้

 

     ในการนี้ โรงเรียนขอขอบคุณคณะผู้บริหาร ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรทาง   การศึกษาจากเมืองพัทยา นายกและคณะกรรมการสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนราชินีบน ผู้แทนชมรมนักเรียนเก่าราชินีบน ผู้แทนผู้ปกครองและชุมชน และคณะผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ ที่ท่านได้เสียสละเวลาอันมีค่ายิ่งมาร่วมงานเปิดห้องเรียนในครั้งนี้ และคาดหวังว่า คณะครูของโรงเรียนจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้มีเกียรติทุกท่านอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการร่วมกัน

 

คณะกรรมการจัดงานเปิดห้องเรียนกุลสตรีราชินีบนในศตวรรษที่ ๒๑

ปีการศึกษา ๒๕๖๑

bottom of page